top of page

รวมบทคัดย่อ

กลุ่มย่อยที่ 1 ห้อง 103

ค่าความถี่มูลฐานของวรรณยุกต์และการเอื้อนเสียงในทำนองเสนาะไทยประเภทกาพย์ยานี 11

ฉัตรสุดา เอี่ยมอุดม, ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์

   การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านออกเสียงคำประพันธ์ตามลีลาของบทร้อยกรองให้มีความไพเราะ โดยมีลักษณะเด่นคือการเอื้อนเสียง ในเชิงกลสัทศาสตร์ (Acoustic phonetics) การเอื้อนเสียงหรือการเปลี่ยนระดับเสียงตามทำนองโดยปราศจากถ้อยคำก็คือการเปลี่ยนแปลงของค่าความถี่มูลฐาน (fundamental frequency) ค่าความถี่มูลฐานยังเป็นค่าทางกลสัทศาสตร์หลักของวรรณยุกต์อีกด้วย ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเอื้อนเสียงกับวรรณยุกต์ และรูปแบบการเอื้อนเสียงในทำนองเสนาะไทยด้วยวิธีการทางกลสัทศาสตร์
   ผู้วิจัยศึกษาการเอื้อนเสียงจากกาพย์ยานี 11 เนื่องจากเป็นคำประพันธ์ที่ไม่มีข้อบังคับเรื่องเสียงวรรณยุกต์ในฉันทลักษณ์ โดยเลือกการเอื้อนเสียงของคำที่มีวรรณยุกต์สามัญและจัตวาในตำแหน่งพยางค์สุดท้ายของวรรคที่สาม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เอื้อให้เกิดการเอื้อนเสียงมากที่สุด
คำที่ใช้ในการวิเคราะห์มีโครงสร้างพยางค์เปิด ที่มีพยัญชนะต้นเป็นพยัญชนะไม่ก้อง (voiceless) และสระ /a:/ โดยควบคุมวรรณยุกต์ของคำที่อยู่ประชิดหน้าคำทดสอบให้เป็นวรรณยุกต์สามัญ
ซึ่งเป็นระดับเสียงกลางระดับ เพื่อลดอิทธิพลของเสียงวรรณยุกต์แวดล้อม
   ผู้บอกภาษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการอ่านทำนองเสนาะไทยจำนวน 6 คน เป็นผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 3 คน ช่วงอายุ 18-23 ปี อ่านกาพย์ยานี 11 จำนวน 8 บท 2 รูปแบบคือ การอ่านปกติและการอ่านทำนองเสนาะ จำนวน 3 ครั้ง ผู้วิจัยบันทึกเสียงเพื่อวัดค่าความถี่มูลฐาน 11 จุดของค่าระยะเวลาแบบปรับค่าของวรรณยุกต์จากจุดเริ่มต้นสระ (vowel onset) ถึงจุดสิ้นสุดสระ (vowel offset) สำหรับการอ่านปกติ ส่วนการอ่านทำนองเสนาะวัดค่าความถี่มูลฐาน 11 จุดของช่วงเอื้อนเสียงด้วย
   ผลการศึกษาพบว่า ค่าความถี่มูลฐานของวรรณยุกต์ในทำนองเสนาะโดยรวมสูงกว่า
วรรณยุกต์ในการอ่านปกติของทุกคน ส่วนการขึ้นตกของวรรณยุกต์ในทำนองเสนาะและการอ่านปกติของผู้บอกภาษาส่วนใหญ่โดยรวมคล้ายกัน กล่าวคือ วรรณยุกต์สามัญเป็นระดับเสียงระดับที่ไม่มีจุดเปลี่ยนทิศทางระดับเสียง (turning point) และวรรณยุกต์จัตวาเป็นระดับเสียงตกขึ้น (fall-rise) ทั้งในการอ่านทำนองเสนาะและการอ่านปกติ แต่แตกต่างที่จุดเวลาของจุดเปลี่ยนทิศทางระดับเสียง โดยวรรณยุกต์จัตวา ในการอ่านทำนองเสนาะมีการเปลี่ยนระดับเสียงตกเป็นระดับเสียงขึ้นเร็วกว่าวรรณยุกต์จัตวาในการอ่านแบบปกติ เมื่อพิจารณาช่วงการเอื้อนเสียงของวรรณยุกต์สามัญและจัตวาในทำนองเสนาะพบว่า มีการเคลื่อนที่ของระดับเสียงที่แตกต่างกัน
โดยการเปลี่ยนแปลงระดับเสียงของการเอื้อนในวรรณยุกต์สามัญอยู่ในช่วงประมาณ 50% ท้ายของค่าระยะเวลา ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงระดับเสียงของการเอื้อนในวรรณยุกต์จัตวาอยู่ในช่วง 50% แรกของค่าระยะเวลา ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะจุดสิ้นสุดระดับเสียงของวรรณยุกต์สามัญและจัตวาอยู่ในย่านความสูงต่ำที่แตกต่างกัน

เสียงของผู้หญิงข้ามเพศ : การศึกษาความสัมพันธ์ของช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของพยัญชนะกักในภาษาไทยกับองค์ประกอบสร้างของตัวตนทางเพศ

พัทธนันท์ หาญชาญเวช, ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์

   เสียงของผู้หญิงข้ามเพศเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ อย่างไรก็ตาม ค่าทางกลสัทศาสตร์ที่เป็นลักษณะเด่นจำแนกของเสียงผู้หญิงข้ามเพศคืออะไรนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ประเด็นสำคัญคือการศึกษาที่ผ่านมาไม่ให้ความใส่ใจเกี่ยวกับเพศสภาวะของผู้บอกภาษาแต่ละคน และมองข้ามความแตกต่างที่หลากหลายภายในกลุ่ม ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงจะศึกษาเสียงกัก (plosive) ภาษาไทยของผู้หญิงข้ามเพศด้วยวิธีทางกลสัทศาสตร์ร่วมกับการวิเคราะห์องค์ประกอบสร้างของตัวตนทางเพศซึ่งเป็นแนวคิดทางมานุษยวิทยา
   การศึกษาในอดีตพิสูจน์ทราบว่า ค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้อง (voice onset time/VOT) มีประสิทธิภาพในการจำแนกประเภทเสียงกักในภาษา และแสดงการแปรตามเพศ (ชายและหญิง) ของผู้พูดในหลายภาษาอีกด้วย (Li, 2013; Oh, 2011; Swartz, 1992; ตามใจ, 2553) ในการศึกษานี้ ผู้วิจัยศึกษาค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของพยัญชนะกักในภาษาไทยที่พูดโดยผู้ชายและผู้หญิง (กลุ่มควบคุม) และผู้หญิงข้ามเพศ (กลุ่มทดลอง) โดยศึกษาพยัญชนะกักต้นพยางค์ทั้ง 3 ประเภทคือพยัญชนะกักก้อง กักไม่ก้องไม่พ่นลม และกักไม่ก้องพ่นลมที่ฐานกรณ์ริมฝีปาก ปุ่มเหงือก และ เพดานอ่อน ส่วนการศึกษาองค์ประกอบสร้างของตัวตนทางเพศของผู้หญิงข้ามเพศใช้แบบสอบถามมาตรวัดลิเคิร์ทสเกล 5 ระดับ ประกอบด้วยคำถามที่สะท้อน 1) อัตลักษณ์ทางเพศ (sexual identity) และ 2) เพศวิถี (sexuality) เพื่อคำนวณเป็นค่าดัชนีความเป็นหญิง (femininity index) และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสองตัวแปรด้วยการทดสอบทางสถิติโดยใช้การวิเคราะห์การถดถอย (linear regression analysis)
   ผลการศึกษาพบว่าค่าช่วงเวลาเริ่มเสียงก้องของผู้หญิงข้ามเพศมีค่าระยะเวลายาวกว่าผู้ชายและผู้หญิง โดยมีลักษณะเด่นที่พยัญชนะกักไม่ก้องพ่นลม เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดโดยคิดสัดส่วนของช่วงพ่นลม (aspiration portion) ในช่วงเวลาเริ่มเสียงก้อง พบว่าช่วงพ่นลมมีค่าพิสัยที่ไล่ระดับและแปรตามค่าดัชนีความเป็นหญิงของแต่ละบุคคลโดยมีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ p < .001 ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ทางเสียงของผู้หญิงข้ามเพศที่แตกต่างจากผู้ชายและผู้หญิง และอัตลักษณ์ตัวตนทางเพศที่หลากหลายภายในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศซึ่งสะท้อนผ่านเสียงพูดอีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติสระกับขนาดบริเวณสระในภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอกพล กันทอง

   บริเวณสระ คือ บริเวณการปรากฏค่าความถี่กำทอนของเสียงสระในเชิงกลสัทศาสตร์ ซึ่งค่าความถี่กำทอนนี้ก็หมายถึง ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ (formant frequency) ที่ใช้อธิบายคุณสมบัติของเสียงสระในเชิงกลสัทศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติสระกับขนาดบริเวณสระเป็นประเด็นที่นักสัทศาสตร์และนักวิจัยหลายท่านกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน แต่งานวิจัยที่ผ่านมาในอดีตนั้นไม่ได้มุ่งทดสอบความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นสำคัญ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติสระกับขนาดบริเวณสระ โดยมีสมมติฐานคือ คุณสมบัติสระในระบบ ได้แก่ ความสั้นยาว คุณสมบัติโอษฐ์-นาสิก และคุณสมบัติน้ำเสียง ไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของบริเวณสระ วิธีการดำเนินการวิจัย งานวิจัยนี้ศึกษาสระเดี่ยวในภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนฮากกา ภาษามลายูถิ่นนครศรีธรรมราช ภาษาอูรักลาโวย ภาษากะเหรี่ยงโป ภาษาแสก ภาษาอึมปี ภาษาละเม็ด และภาษาบรู โดยใช้ผู้บอกภาษาเพศชาย จำนวนภาษาละ 3 คน รวม 24 คน โปรแกรมที่ใช้บันทึกเสียงและใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางกลสัทศาสตร์ คือ โปรแกรม Praat สำหรับรายการคำทดสอบสร้างขึ้นตามจำนวนสระเดี่ยวในระบบของแต่ละภาษา และจะถูกคัดเลือกมา 5 คำ ต่อ 1 สระ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางกลสัทศาสตร์ ได้แก่ ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่ 1 และ ที่ 2 และนำมาปรับค่าเพื่อลดความแตกต่างในการออกเสียงระหว่างบุคคลด้วยวิธีการเอส-เซนทรอยด์ การคำนวณขนาดบริเวณสระใช้สูตรการคำนวณพื้นที่ของรูปหลายเหลี่ยม ผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็กแรก คุณสมบัติความสั้นยาวมีความสัมพันธ์กับขนาดบริเวณสระ ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน เนื่องจากสระที่มีคุณสมบัติสระยาวในทุกภาษามีบริเวณสระกว้างกว่าสระที่มีคุณสมบัติสระสั้น ประเด็นที่สอง คุณสมบัติโอษฐ์-นาสิกไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดบริเวณสระ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน เนื่องจากสระที่มีคุณสมบัติสระโอษฐ์ในบางภาษามีบริเวณสระแคบกว่าสระที่มีคุณสมบัติสระนาสิก และในทางกลับกันสระที่มีคุณสมบัติสระโอษฐ์ในบางภาษามีบริเวณสระกว้างกว่าสระที่มีคุณสมบัติสระนาสิก ประเด็นที่สาม คุณสมบัติน้ำเสียงไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดบริเวณสระ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน เนื่องจากสระที่ไม่มีลักษณะน้ำเสียงในบางภาษามีบริเวณสระทั้งกว้างกว่าและแคบกว่าสระที่มีลักษณะน้ำเสียงเครียด และสระที่ไม่มีลักษณะน้ำเสียงในบางภาษามีบริเวณสระทั้งกว้างกว่าและแคบกว่าสระที่มีลักษณะน้ำเสียงต่ำทุ้ม

 

การศึกษาปัญหาการออกเสียงพยัญชนะเสียงเสียดแทรกภาษาฝรั่งเศสสำหรับผู้เรียนชาวไทย

เสกสรร พรมเกษา

   งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการออกเสียงพยัญชนะเสียงเสียดแทรกภาษาฝรั่งเศสของผู้เรียนชาวไทยและวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาการออกเสียงพยัญชนะเสียงเสียดแทรกภาษาฝรั่งเศสสำหรับผู้เรียนชาวไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยต่อไป โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรูพา จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือแบบทดสอบการออกเสียงคำเดี่ยวภาษาฝรั่งเศส จำนวน 36 คำ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการบันทึกการอ่านออกเสียงรายการคำภาษาฝรั่งเศสของกลุ่มตัวอย่างทีละคน หลังจากนั้นได้นำข้อมูลทั้งหมดมาให้เจ้าของภาษาตรวจสอบความถูกต้อง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ผลการศึกษาพบว่ามีข้อผิดพลาดจำนวน 66 ครั้งจากการออกเสียงทั้งหมด 360 ครั้ง และพบว่าไม่มีเสียงใดที่กลุ่มตัวอย่างออกเสียงได้ถูกต้องทั้งหมด โดยเสียงที่มีการออกเสียงผิดมากที่สุดคือ เสียง [ʒ] ในอัตราร้อยละ 30.30 ส่วนเสียงที่มีการออกเสียงผิดน้อยที่สุดคือ เสียง [f] คิดเป็นร้อยละ 6.06 และพบว่าการออกเสียงพยัญชนะเสียงเสียดแทรกภาษาฝรั่งเศสในตำแหน่งท้ายคำมีข้อผิดพลาดมากที่สุด ในอัตราร้อยละ 39.41 โดยเสียง [v] ในตำแหน่งท้ายคำมีการออกเสียงผิดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 13.64 จากผลการวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยขอเสนอแนวทางในการพัฒนาการออกเสียงพยัญชนะเสียงเสียดแทรกภาษาฝรั่งเศสสำหรับผู้เรียนชาวไทย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนออกเสียงได้ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เช่น การใช้ภาพหรือสื่อวีดิทัศน์เพื่อนำเสนอการออกเสียงที่ถูกต้อง การฝึกฟัง การออกเสียง และการเขียนตามคำบอกโดยใช้คู่เทียบเสียงในระดับหน่วยเสียง ระดับคำและประโยค และการใช้สื่อสารสนเทศในการตรวจสอบความถูกต้องในการออกเสียงของผู้เรียน เป็นต้น

กลุ่มย่อย 2 ห้อง 114

การศึกษาคำว่า ตาม ในภาษาไทย

ปิยะวดี คำสุวรรณ, อุมาภรณ์ สังขมาน, คเชนทร์ ตัญศิริ

   งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีจุดมุ่งหมายวิเคราะห์ หน้าที่และความหมายของคำว่า ตาม ในภาษาไทย โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างข้อมูล จำนวนทั้งหมด 1,000 ข้อมูล กลุ่มตัวอย่างข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์มาจากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติฯ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างข้อมูล จำนวนทั้งหมด จากแหล่งข้อมูล 5 ประเภทได้แก่ เรื่องแต่ง (fiction) หนังสือพิมพ์ (newspaper) งานเขียนกึ่งวิชาการ (non-academic) งานเขียนวิชาการ (academic) และเบ็ดเตล็ด (miscellaneous) กรอบการวิเคราะห์ข้อมูลใช้แนวคิดเรื่องภาษาศาสตร์ปริชาน
   ผลการศึกษาพบว่า คำว่า ตาม ในภาษาไทยเป็นคำที่มีหลายความหมาย สามารถปรากฏเดี่ยวเพื่อทำหน้าที่เป็นคำกริยาหลักของประโยค แสดงเหตุการณ์การเคลื่อนที่แสดงความหมายในเชิงทิศทางของเหตุการณ์ และแสดงการกระทำของผู้บอกหรือผู้เล่าเหตุการณ์ นอกจากนั้นคำว่า ตาม สามารถปรากฏเป็นคำบุพบท แสดงตำแหน่ง สถานที่ ความหมายพื้นฐานคือของคำว่า ตาม คือ ไปหรือมาข้างหลังหรือภายหลังโดยลำดับของสิ่งหรือเหตุการณ์ที่มีมาก่อน และความหมายที่ถูกขยายจากความหมายพื้นฐาน 5 ความหมายได้แก่ 1) เรียกตัวมา 2) ทิศทางการมอง 3) อาการเลียนแบบหรือเอาอย่าง 4) ตามเซ้าซี้รบกวนร่ำไป และ5) ถิ่น ที่อยู่ ความหมายของคำว่า ตาม ในภาษาไทยมีสัมพันธ์กัน แสดงถึงมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการขยายความหมายเดียวกัน คือ ทิศทางการเคลื่อนที่ของเหตุการณ์ หรือการกระทำของผู้บอกเล่าเหตุการณ์ ความหมายของคำว่า ตาม สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท หรือตำแหน่งที่ปรากฏ หรือเมื่อปรากฏร่วมกับคำกริยาอื่น โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูป

การขยายหน้าที่เชิงไวยากรณ์ของคำว่า เวลา ในภาษาไทย

จิดาภา ตั้งดิลกธนากุล, คเชนทร์ ตัญศิริ, อุมาภรณ์ สังขมาน

   คำว่า เวลา ในภาษาไทย นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งคำที่สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการคำหลายความหมายแล้ว ยังเป็นคำที่มีความน่าสนใจในด้านวิทยาหน่วยคำและวากยสัมพันธ์ แม้ตามพจนานุกรมจะมีการจัดให้คำว่า เวลา อยู่ในประเภทคำนามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลการใช้ภาษาไทยปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของกระบวนการกลายเป็นรูปไวยากรณ์ ซึ่งเป็นการขยายความหมายและหน้าที่จากเชิงเนื้อหามาสู่เชิงไวยากรณ์ ทำให้คำว่า เวลา เกิดการเปลี่ยนชนิดคำและวากยสัมพันธ์ โดยมีการพัฒนาจากคำนามมาสู่คำสันธานนาม (conjunctional noun) ซึ่งเป็นรูปไวยากรณ์ที่ทำหน้าที่คำเชื่อมอนุพากย์ (subordinator) ในหน่วยสร้างวิเศษณานุประโยค
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอคุณสมบัติทางวิทยาหน่วยคำและวากยสัมพันธ์ของคำว่า เวลา ในภาษาไทยปัจจุบัน รวมทั้งวิเคราะห์การขยายความหมายและหน้าที่เชิงไวยากรณ์ของคำๆ นี้ โดยมุ่งพิจารณาปริบทที่เอื้อให้รูปภาษาเกิดการการพัฒนาความหมายและหน้าที่เชิงไวยากรณ์
   ผลการศึกษาพบว่า คำว่า เวลา มีการปรากฏเป็นคำนามในลักษณะต่างๆ ได้แก่ ปรากฏเป็นคำนามเดี่ยวที่เป็นอาร์กิวเมนต์ประธานบ่งชี้การเป็นผู้กระทำ และหน่วยกรรมตรงของกริยาที่ต้องการหน่วยกรรมหรือส่วนเติมเต็มจำเป็นมารองรับ ปรากฏเป็นคำนามที่มีส่วนขยาย และปรากฏเป็นคำลักษณนาม นอกจากนั้นแล้วยังพบการปรากฏเป็นคำเชื่อมอนุพากย์ที่ทำหน้าที่และแสดงความหมายทางไวยากรณ์ในหน่วยสร้างวิเศษณานุประโยค สำหรับการศึกษาการขยายความหมายและหน้าที่เชิงไวยากรณ์พบว่า คำว่า เวลา มีการพัฒนาจากการเป็นคำนามไปสู่คำเชื่อมอนุพากย์ในลักษณะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ในแต่ละระยะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีขอบเขตที่แยกจากกันอย่างชัดเจน โดยความหมายในระยะแรกเริ่มเป็นความหมายเชิงเนื้อหาที่แสดงออกในรูปภาษาที่เป็นคำนาม เป็นต้นแหล่งของการพัฒนามาสู่ความหมายที่ซับซ้อนมากกว่าในระยะต่อมาในบริบทที่คำนาม เวลา ปรากฏร่วมกับอนุประโยคขยายนาม จากนั้นความหมายนั้นก็จะเป็นต้นแหล่งของการขยายมาสู่ความหมายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในเชิงไวยากรณ์ คือ เป็นคำเชื่อมอนุพากย์

เครือข่ายความหมาย ‘นอก’ ในภาษาไทย

ผไทมาศ ประมวล, พุทธชาติ โปธิบาล, คเชนทร์ ตัญศิริ

   บทความนี้มุ่งศึกษาเพื่อหาเครือข่ายความหมาย และความสัมพันธ์ของ นอก ตามแนวคิดทางอรรถศาสตร์ปริชาน ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มาจากการเก็บข้อมูลคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ (Thai National Corpus) โดยผู้วิจัยใช้เครื่องมือทางสถิติ ได้แก่ จัดประเภท นอก ตามการปรากฏร่วมกับคำอื่น ๆ ในประโยค โดยเริ่มจากการจัดประเภทออกตามตำแหน่ง และวิเคราะห์ความหมายตามแนวทฤษฎีอรรถศาสตร์ปริชาน และพรรณนาความหมายในปริบทต่างๆ จากนั้นจึงสรุปความหมายทั้งหมด และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ว่า ตำแหน่งทางวากสัมพันธ์ที่ผู้วิจัยพบได้แก่ คำนาม คำบุพบท คำเชื่อมประโยค คำกริยา และปรากฏเป็นคำประสมที่มีลักษณะเลือกปรากฏร่วม พบความหมายทั้งสิ้น 4 ความหมาย โดยเป็นความหมายต้นแบบ คือ 1) ความหมายแสดงส่วนของวัตถุที่ไม่ได้อยู่ภายใน และความหมายที่เกิดจากการขยายออกมา ได้แก่ 2) ความหมายแสดงพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ภายใน 3) ความหมายต่างประเทศ 4) ความหมายของการไม่ปฏิบัติตาม มีการขยายความหมายของการไม่ปฏิบัติตาม ได้แก่ 4.1) ความหมายของการสร้างสรรค์ 4.2) ความหมายของการไม่ได้เป็นสมาชิก 4.3) ความหมายของการไม่ซื่อสัตย์

A syntactic analysis of null copula in Thai

Woraprat Manowang

   Copulas are a linguistic element that are either argued to be a vacuously meaningful or a grammatical element. A copula serves to function based on what type of its complement is. Work by Kuno and Wongkhumthong (1981) shows that Thai has two kinds of copulas – khɯɯ (identificational copula) and pɛn (characterisational copula) – based on Higgin’s taxonomy (1979).

   Kuno and Wongkhumthong (1981: 95-97) observe that the two copulas are pragmatically controlled, and they are subject to ellipsis in a circumstance that its complement is present at the time of utterances. The following examples illustrate the behaviors above:

1) a. dɛ̀ k.khon.níi (pɛn) dɛ̀ k dii nà child.

       CLF.DEM COP child good FOC

        ‘A good child, this boy is.’

    b. khon nán (khɯɯ) khún cɔɔn

        person DEM COP Mr. John 

       ‘That person is Mr. John’

   Stassen’s typological survey (2013) on copulas shows that Thai is a language which sets a yes-parameter in the continuum of null copula encoding and subsequently permits a null copula to exist. While Thai copulas have been explored in the formal literature (e.g. Chiravate, 2012; Wongwattana, 2015; Hedberg & Potter, 2010; among many others), the Thai null copula has received less attention.

   In this talk, I propose that Thai has a phonologically null copula which is a counterpart of three distinctive copulas – identificational, predicational and locative copulas. Empirical evidence in support of the claim comes from extraction site, ellipsis diagnostics and attachment by aspect and modality makers. Further, I will investigate the distribution of the Thai null copula in the clausal spine. Under generative frameworks, I argue that in derivation the Thai copula occupies the head of Predication Phrase (PredP) in conformity with the theoretical lines of Bowers (1993) and the head of vP (Chomsky, 1995). The copula raises to the head of VP, a lower position than Negation Phrase (NegP) before Spell-Out.

กลุ่มย่อย 3 ห้อง 116

บ้านกับความสมบูรณ์พร้อมของชีวิต : ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในวาทกรรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

วุฒินันท์ แก้วจันทร์เกตุ, ศิระวัสฐ์ กาวิละนันท์

   บ้านหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แม้ว่าปัจจุบันความต้องการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะทวีคูณขึ้น แต่ที่ดินที่ใช้สำหรับสร้างบ้านในเขตพื้นที่ดังกล่าวกลับมีอยู่จำกัด ทำให้ธุรกิจการขายบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งจำเป็นต้องใช้การรีวิวหรือการเขียนแนะนำเพื่อช่วงชิงกลุ่มลูกค้าที่สนใจซื้อบ้านและมีความต้องการที่หลากหลายได้รับทราบข้อมูลและเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อบ้านของแต่ละโครงการ บทความวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับอุดมการณ์ในวาทกรรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ Home.co.th เฉพาะในส่วนของการรีวิวบ้านจาก Home.co.th และนิตยสารโฮมบายไกด์ ในไตรมาสที่ 1 คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2562 และใช้กรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตามแนวทางภาษาศาสตร์ของ Fairclough (1995) เป็นแนวทางการวิจัย
   ผลการวิจัยพบว่า ผู้ผลิตวาทกรรมใช้กลวิธีทางภาษา ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์ การกล่าวอ้าง การใช้มูลบท และการเปรียบเทียบ เพื่อประกอบสร้างชุดความคิดที่ว่า บ้านที่ดี คือบ้านที่ทันสมัย อยู่ใจกลางเมือง มีธรรมชาติแวดล้อม ปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และรองรับการใช้งานในอนาคต บ้านที่มีคุณภาพต้องได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกที่มีความชำนาญการและสร้างโดยบริษัทที่มีชื่อเสียง ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยจะต้องมีฐานะทางการเงินที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุดความคิดเหล่านี้นำไปสู่การสร้างและสื่ออุดมการณ์ความสมบูรณ์พร้อมของชีวิต เพื่อทำให้ผู้อ่านเชื่อและยอมรับว่า ชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม คือการได้อยู่อาศัยในบ้านตามที่วาทกรรมนำเสนอเท่านั้น วาทกรรมธุรกิจดังกล่าวจึงเอื้อประโยชน์ทางการค้าและเป็นวิธีการทางการตลาดที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้อย่างแยบยล

 

แดร็กควีน : ภาษากับการนำเสนอตัวตนของผู้เข้าแข่งขันในรายการ Drag Race Thailand

วิภาดา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, ดีอนา คาซา

   บทความนี้มุ่งศึกษากลวิธีทางภาษาในการนำเสนอตัวตนของผู้เข้าแข่งขันในรายการ Drag Race Thailand ซึ่งเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ค้นหาแดร็กควีน (Drag Queen) ผู้มีกายเป็นชาย แต่มีความสามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้อย่างสวยงามและมีทักษะการแสดงรอบด้านอย่างมีศิลปะ อาศัยการวิเคราะห์ตามแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ เก็บรวบรวมข้อมูลรายการ Drag Race Thailand ซีซั่นที่ 1 จำนวน 8 ตอน และซีซั่นที่ 2 จำนวน 13 ตอน รวมทั้งสิ้น 21 ตอน จากเว็บไซต์ LINE TV
   ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มผู้เข้าแข่งขันซึ่งเรียกตนเองว่าแดร็กควีนใช้กลวิธีทางภาษา ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้มูลบท การใช้อุปลักษณ์ การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ เพื่อนำเสนอตัวตนว่า 1.) แดร็กควีนเป็นผู้หญิง 2.) แดร็กควีนเป็นการแสดงโชว์อย่างมีศิลปะ 3.) แดร็กควีนยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและต้องการการยอมรับจากสังคม การนำเสนอตัวตนของแดร็กควีนเหล่านี้มิได้เป็นเพียงการสร้างชุมชน (community) ของกลุ่มแดร็กควีนด้วยกันเท่านั้น หากแต่ยังต้องการสร้างตัวตนและพื้นที่ให้แก่กลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) ในสังคมไทยอีกด้วย

ปริจเฉทการโฆษณาแบบอิงกระแส (Real-Time) ของทวิตเตอร์ท็อปส์ไทยแลนด์

อรจิรา คงสมจิตต์

   ทวิตเตอร์เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจเป็นอย่างมากเนื่องจากทวิตเตอร์มีลักษณะเด่นในเรื่องการส่งข้อความขนาดสั้นและการกระจายข้อมูลข่าวสารมีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ศูนย์การค้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทวิตเตอร์ในการโฆษณาสินค้าผ่านชื่อทวิตเตอร์ “ท็อปส์ไทยแลนด์” การโฆษณาของท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับการกล่าวถึงจากสังคมในวงกว้างเนื่องจากทางองค์กรใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์หรือกระแสต่างๆในสังคมเพื่อโฆษณาสินค้าหรือเป็นการโฆษณาโดยใช้กลยุทธ์การตลาดแบบอิงกระแส (Real-Time Marketing) อย่างไรก็ตามผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าผู้ผลิตโฆษณาใช้ “ภาษา”เป็นเครื่องมือสำคัญในการโฆษณาแบบอิงกระแส การโฆษณาของทวิตเตอร์ท็อปส์ไทยแลนด์จึงเป็นปริจเฉทการโฆษณาที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งทางองค์กรตั้งใจเลือกใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาปริจเฉทการโฆษณาแบบอิงกระแสของทวิตเตอร์ท็อปส์ไทยแลนด์ตามกรอบแนวคิดปริจเฉทวิเคราะห์ (discourse analysis)โดยเก็บข้อมูลโฆษณาแบบอิงกระแสในทวิตเตอร์ท็อปส์ไทยแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 – 30 พฤศจิกายน 2561 รวมระยะเวลา 3 เดือน โฆษณาแบบอิงกระแสที่นำมาศึกษาวิเคราะห์มีจำนวนทั้งสิ้น 117 ปริจเฉท
   ผลการศึกษาพบว่าการโฆษณาแบบอิงกระแสของทวิตเตอร์ท็อปไทยแลนด์เป็นการนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ประเภทไมโครบล็อก โครงสร้างปริจเฉทประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนเปิดเรื่อง เป็นการเกริ่นนำด้วยการนำเนื้อหาจากเหตุการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนในสังคมมาใช้ในการเปิดเรื่อง เนื้อหาเหตุการณ์ที่นำมาใช้เปิดเรื่องมี 3 ประเภท ได้แก่ สื่อบันเทิง กระแสข่าวต่างๆในสังคม และเทศกาลหรือวันสำคัญ ส่วนเนื้อเรื่องเป็นการบรรยายรายละเอียดของสินค้าประกอบด้วยชื่อสินค้า สรรพคุณและรายละเอียดต่างๆของสินค้า ส่วนปิดเรื่อง เป็นการกล่าวถึงสถานที่ซื้อและเว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้รับสารสามารถสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ได้ รวมถึงส่วนปิดเรื่องประกอบด้วยการใช้เครื่องหมายแฮชแท็ก (#) เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจเพื่อทำให้ผู้ที่กำลังติดตามอ่านเนื้อหาในเครื่องหมายแฮชแท็กเห็นการโฆษณาสินค้าของทางองค์กร ทั้งนี้โครงสร้างปริจเฉททั้ง 3 ส่วนมีการเรียงลำดับและมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน สำหรับกลวิธีทางภาษาที่ใช้ในการโฆษณาแบบอิงกระแสของทวิตเตอร์ท็อปส์ไทยแลนด์มี 5 กลวิธี โดยเรียงลำดับตามความถี่ที่พบ ได้แก่ การใช้สหบท การเชื่อมโยงความ การใช้เสียงสัมผัส การซ้ำคำ และการเล่นคำ ดังนั้นปริจเฉทการโฆษณาแบบอิงกระแสของทวิตเตอร์ท็อปส์ไทยแลนด์จึงเป็นปริจเฉทประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะทางภาษาเพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ในการโฆษณาสินค้าขององค์กรให้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดแบบอิงกระแส (Real-Time Marketing)

Strategies of the Debates of Abhisit Vejjajiva and Thanathorn Juangroongruangkit in Election Campaign of Thailand in 2019

Natsuda Khantijit, Natnicha Promhu, Thalladon Phattarakam, Tanapond Meeboonrod, Cholanut Arayakoon, Nutcha Kongka, Sirawich Tampanich

   In this study, the researchers analyze the textual properties of the political speeches by Abhisit Vejjajiva and Thanathorn Juangroongruangkit from the debate variety shows, Thairath and The Standard, held in 2019. The textual analysis is an efficient approach to know about their political discourse and ideology of politicians. The framework of this study was a critical discourse analysis (Van Dijk, 2009). The interpretive analysis process was used to interpret the speeches from debates on Thairath and The Standard to analyze the overall interaction strategies. The results revealed that the speeches were tended to implement the overall strategies, including the positive-self presentation and negative-other presentation, and present their ideological intentions on the audiences. The speeches of Abhisit were positive-self presentation (62.50%), which showed his political experiences of being the 27th president of Thailand and the policies of Democrat Party. On the other hand, the speeches of Thanathorn were negative-other presentation (78.26%), which showed his opinion to accuse the current government (2019).

กลุ่มย่อย 4 ห้อง 103

ความสัมพันธ์ระหว่างวากยสัมพันธ์และการตีความทางอรรถศาสตร์ของภูมินามไทยที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส

ธีระ รุ่งธีระ

   ภูมินามหมายถึงชื่อเรียกสถานที่ซึ่งอาจจะเป็นชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ สถานที่ทางวัฒนธรรมหรือหน่วยการปกครอง นักภาษาศาสตร์จำนวนมากให้ความสนใจศึกษาชื่อสถานที่ในแง่มุมต่างๆ เช่น การศึกษากลวิธีการตั้งชื่อภูมินาม การศึกษาโครงสร้างภูมินาม หรือการเปลี่ยนแปลงชื่อภูมินาม เป็นต้น จากการสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องผู้วิจัยพบว่ายังไม่มีการศึกษาชื่อสถานที่ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างวากยสัมพันธ์และการตีความทางอรรถศาสตร์ ซึ่งโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงหรือบริบทแวดล้อมอาจส่งผลต่อการตีความความหมายของชื่อสถานที่ได้
   งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับการตีความความหมายของชื่อสถานที่ไทยที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนำเที่ยวที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยเน้นไปที่ชื่อสถานที่ดัดแปลงโครงสร้าง ตามแนวติดของ (Leroy 2004; 2005) โดยเก็บข้อมูลจากหนังสือนำเที่ยวประเทศไทยที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส จำนวน 4 เล่ม ได้แก่ Le Routard, le Guide vert, Petit Futé และ Encyclopédie du voyage ผลการศึกษาพบว่า การดัดแปลงโครงสร้างของชื่อสถานที่มีผลต่อวิธีการอ้างถึง (mode of reference) มีการใช้ชื่อสถานที่ไทยดัดแปลงใน 2 รูปแบบ คือ แบบอุปลักษณ์และแบบทำให้เห็นภาพ ชื่อสถานที่ในเชิงอุปลักษณ์จะถ่ายโอนจากสิ่งที่อ้างถึงปกติ (usual referent) ไปยังสิ่งที่อ้างถึงใหม่ (new referent) ที่มีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนหรือคล้ายกัน สิ่งที่อ้างอิงปกติจะกลายเป็นต้นแบบที่ผู้อ่านสามารถจินตนาการว่าสิ่งอ้างถึงใหม่นั้นมีลักษณะเช่นไร เช่น l’avenue des Champs-Élysées bangkokienne (ถนนช็องเอลิเซ่ของกรุงเทพฯ) หรือ le Grand Canyon de Thaïlande (แกรนด์แคนยอนของไทย) ส่วนชื่อสถานที่แบบทำให้เห็นภาพจะมีโครงสร้างเหมือนกับชื่อสถานที่เชิงอุปลักษณ์คือมีคำนำหน้านามหรือตัวกำหนดและส่วนขยายที่เป็นคุณศัพท์วลีหรือบุพบทวลี แต่การอ้างถึงสถานที่จะแตกต่างกัน คือจะเป็นการอ้างถึงสถานที่เดิมที่เป็นต้นแบบแต่เป็นการจำแนกสถานที่นั้นออกเป็นแบบต่างๆ ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น la Bangkok moderne (กรุงเทพฯที่ทันสมัย) หรือ la Thaïlande d’aujourd’hui (ประเทศไทยทุกวันนี้)
ผลการศึกษาทำให้เห็นว่า แม้ว่าชื่อเฉพาะจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายในแง่ของปรัชญาภาษา แต่การตีความชื่อสถานที่ที่มีการดัดแปลงโครงสร้างทำให้เห็นการถ่ายโอนความหมายจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากกว่า นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ากฎเกณฑ์การนิยามนามชื่อเฉพาะที่บอกว่าต้องมีหนึ่งเดียว (singularity) ก็อาจจะได้รับการโต้แย้งได้

อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ความกลัวในวรรณกรรม: กรณีศึกษาเรื่องสั้น “สงบงงในดงงู”

สิริศิระ โชคทวีกิจ

   บทความวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ความกลัวในเรื่องสั้น “สงบงงในดงงู” ด้วยทฤษฎีอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ทางภาษาศาสตร์ปริชานของเลคอฟกับจอห์นสัน (Lakoff & Johnson, 1980) และโคเวกเซส (Kövecses, 2010) ผลวิจัยพบว่าอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ความกลัวได้รับการถ่ายโยงเป็น 14 ประเภท ได้แก่ 1) ความกลัวคือป่าทึบ 2) ความกลัวคือใบไม้ร่วง 3) ความกลัวคือความอัปลักษณ์ 4) ความกลัวคือการเลือกตั้ง 5) ความกลัวคือการคุมขัง 6) ความกลัวคือโรค 7) ความกลัวคือเชือก 8) ความกลัวคือความตาย 9) ความกลัวคืออวัยวะ 10) ความกลัวคือวัตถุ 11) ความกลัวคือจิตวิญญาณ 12) ความกลัวคือพิษ 13) ความกลัวคือมนุษย์ 14) ความกลัวคืองู ผลของการใช้อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ความกลัวแสดงให้เห็นว่าตัวละคร(มนุษย์) มีความกลัวที่หลากหลายระดับและมุมมอง มโนทัศน์เหล่านี้สะท้อนถึงความคิดเปรียบเทียบของการใช้ภาษาจริงในรูปแบบประเภทตัวบทวรรณกรรม (เรื่องสั้น) ทำให้เห็นถึงมิติลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความคิด กับตัวบท ได้อย่างเหมาะสม

ภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อน : กรณีศึกษากลวิธีการถ่ายทอดความประโยคบอกเหตุผลและประโยคบอกเงื่อนไข

พิชญา จรูญพงษ์ศักดิ์

   วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแนวคิดเรื่อง “ภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อน” (Leichte Sprache) ซึ่งเป็นวิธภาษาที่ลดทอนความซับซ้อนของภาษาที่ใช้กันทั่วไปเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บุคคลออทิซึ่ม บุคคลที่มีสภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นต้น สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตามความประสงค์ของตนเองและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีถ่ายทอดความจากภาษาเยอรมันมาตรฐานเป็น “ภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อน” และปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทอดความดังกล่าว โดยมุ่งเน้นศึกษาเฉพาะกลวิธีการถ่ายทอดความประโยคบอกเหตุผลและประโยคบอกเงื่อนไขจากตัวบทซึ่งจัดทำขึ้นโดยกระทรวงแรงงานและสังคมแห่งเยอรมนีจำนวนรวม 8 ชิ้น โดยแบ่งเป็นตัวบทภาษาเยอรมันมาตรฐาน 4 ชิ้น และบทแปลฉบับภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อน 4 ชิ้น
   จากการวิจัยตัวบทดังกล่าวพบว่า การถ่ายทอดความให้เป็นภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อนนั้นใช้กลยุทธ์แบบสรุปความเพื่อรักษาความหมายของต้นฉบับ (denotative Äquivalenz) ซึ่งให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความเป็นตัวบทปลายทางที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับตัวบทต้นทางมากกว่าการรักษาโครงสร้างภาษาและอรรถรสของตัวบทต้นทาง อีกทั้งยังมีการละเนื้อความบางส่วนของตัวบทต้นทางอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อศึกษาในระดับโครงสร้างประโยคแล้ว กลวิธีการถ่ายทอดความประโยคบอกเหตุผลและประโยคบอกเงื่อนไขที่พบได้บ่อยที่สุดคือการเชื่อมความโดยใช้คำวิเศษณ์เชื่อมความ เช่น deshalb (“ดังนั้น”) และ darum (“ดังนั้น”) และคำสันธาน เช่น denn (“เพราะ”) เพื่อเชื่อมประโยคความเดียวเป็นประโยคความรวม และการบอกความเป็นเหตุเป็นผลและเงื่อนไขโดยไม่ใช้คำเชื่อมใด ๆ อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่พบคือมีการใช้คำสันธานเชื่อมประโยคความซ้อน เช่น wenn (“ถ้า”) และ weil (“เพราะ”) ซึ่งตามกฎไวยากรณ์ภาษาเยอรมันจะวางคำกริยาในประโยคเหล่านี้ไว้ตำแหน่งสุดท้ายของประโยค ทั้งนี้กลวิธีดังกล่าวจะไม่สอดคล้องตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดความเป็น “ภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อน” ของกลุ่มนักวิชาการและองค์กรต่าง ๆ เช่น กลุ่มเครือข่ายภาษาแบบลดทอนความซับซ้อน (Netzwerk Leichte Sprache) และสถาบันวิจัยภาษาเยอรมันแบบลดทอนความซับซ้อน (Forschungsstelle Leichte Sprache) เป็นต้น ที่ได้ให้แนวปฏิบัติในการถ่ายทอดความฯ เอาไว้แล้ว

ตัวอักษรและอักขรวิธีที่ใช้บันทึกภาษาเขมรในเอกสารตัวเขียนช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25

ชัชพิสิฐ ปาชะนี

   เอกสารตัวเขียนที่ใช้ในการติดต่อข้อราชการระหว่างไทยและกัมพูชาในช่วง พ.ศ. 2325-2427 ได้รับการเก็บรักษาและให้บริการที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเอกสารตัวเขียนภาษาเขมรจำนวนกว่า 40 ฉบับ เขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2386-2411 ด้วยตัวอักษรเขมรที่มีรูปแบบและอักขรวิธีเฉพาะในสมัยนั้น บทความนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบตัวอักษรและอักขรวิธีที่ใช้บันทึกภาษาเขมรในเอกสารดังกล่าว โดยใช้วิธีการทางอักขรวิทยา (Palaeography) และภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical Linguistics) เปรียบเทียบกับภาษาเขมรปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า มีการใช้รูปอักษรเขมรทั้งสิ้น 4 ประเภท ได้แก่ 1) รูปพยัญชนะ แบ่งเป็น รูปพยัญชนะตัวเต็ม 32 รูป พยัญชนะตัวเชิง 25 รูป 2) รูปสระ แบ่งเป็น สระลอย 9 รูป สระจม 26 รูป 3) รูปเครื่องหมาย แบ่งเป็น เครื่องหมายประกอบ 10 รูป เครื่องหมายวรรคตอน 8 รูป และ 4) รูปตัวเลข 10 รูป มีลักษณะเป็นอักษรเชรียงรุ่นแรกที่พัฒนาจากอักษรเขมรสมัยหลังพระนครและส่งต่อมายังอักษรเชรียงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อักขรวิธีและข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการออกเสียง สัมพันธ์กับภาษาเขมรปัจจุบันทั้งในแง่ของความเหมือนและความแตกต่าง สะท้อนให้เห็นการจำแนกพยัญชนะออกเป็น 2 ชุดและการใช้เครื่องหมายกำกับให้ออกเสียงต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า อักขรวิธีเขมรบางประการสัมพันธ์กับอักขรวิธีไทยที่ใช้ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

กลุ่มย่อย 5 ห้อง 114

การศึกษาความต้องการจำเป็นของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารบนฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน : กรณีศึกษาบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

วิลาวัลย์ นิยมทอง, สิงหนาถ น้อมเนียน

   งานวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการจำเป็นของการสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวให้กับชุมชนบ้านโคกเมืองในจังหวัดบุรีรัมย์ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสังเกต การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง การสัมภาษณ์กลุ่ม และการวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องในการเก็บข้อมูล ซึ่งการสัมภาษณ์ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน หัวหน้าฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และผู้ประกอบการทั้งหมด 14 คน
ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนให้ความสำคัญกับการสื่อสารภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวต่างชาติและมีความต้องการสื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษบนฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ค่อนข้างมีอายุ และประกอบอาชีพภายในชุมชน เช่น สมุนไพร ผ้าไหม เสื่อกก และโฮมสเตย์ จึงไม่มีเวลาเพียงพอในการศึกษาหาความรู้ในห้องเรียน ชุมชนเชื่อว่าหากชุมชนมีศักยภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น รายได้ในชุมชนก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการจะกล้าพูดคุย สื่อสาร และขายผลิตภัณฑ์ให้แก่นักท่องเที่ยวได้

   ทั้งนี้ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ชุมชนต้องการสื่อการเรียนที่ออกมาในรูปแบบของแผ่นพับที่มี 2 ภาษาคือ ภาษาไทยและอังกฤษ อาจจะออกมาในรูปแบบของโปสเตอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ที่สามารถแขวนไว้ตามศูนย์สาธิตผลิตภัณฑ์ OTOP ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจได้เมื่อเห็นแผ่นป้ายนั้นๆ หรือในรูปแบบของหนังสือที่มีรูปภาพ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคำอ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย โดยเน้นไปในเรื่องคำศัพท์เฉพาะ บทสนทนาที่จำเป็นสั้นๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง และยังมีความต้องการออกมาในรูปแบบของไฟล์เสียง CD และ Audio ให้ฝึกสำหรับวัยผู้ใหญ่หรือเข้าสู่วัยชรา
   งานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการส่งเสริมความสามารถทางการสื่อสารภาษาอังกฤษ และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดดังแคมเปญ Amazing Thailand Go Local ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเช่นกัน

ความต้องการจำเป็นของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารบนฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน : กรณีศึกษาบ้านผาหมี จังหวัดเชียงราย

ประกายมุก ตั้งเจริญสถาพร, สิงหนาท น้อมเนียน

   The purposes of this study are to investigate the needs of the community and develop learning materials of communicative English through Community-Based Tourism of Baan Pha-Mee in Chiang Rai province, which was under the Royal Initiation of the Late King Rama IX. Based on the qualitative research method, this study employed observation field notes, document analysis, semi-structured interviews, and focus-group interviews with 6 entrepreneurs and 9 villagers, who were involved with community tourism. The results show that the needs of communicative English of the entrepreneurs and villagers were speaking and listening skills both in daily life and work with the culture of Akha ethnic community, landscape, transportation, restaurants, and homestays. A bilingual English-Thai photo book with necessary expressions in various contexts was needed. The contributions of this study include 1) the development of community-based English language learning materials; 2) the promotion of entrepreneurs and villagers’ motivation to learn English; 3) the support of community tourism based on the policy of the Ministry of Tourism and Sports “Amazing Thailand Go Local”; and 4) the creation of the positive image for foreign tourists to increase revenue based on the community’s strength and sustainability.

การวิเคราะห์คำศัพท์ภาษาอังกฤษจากภูมิทัศน์ทางภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

กรกฤช มีมงคล

   งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รายการคำศัพท์ภาษาอังกฤษจากภูมิทัศน์ทางภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสร้างรายการคำศัพท์และบทเรียนตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศด้วยตนเอง งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากการถ่ายภาพป้ายที่อยู่ในมหาวิทยาลัยจำนวน 200 ป้าย แบ่งเป็นภาพป้ายที่ถ่ายจากวิทยาเขตในเมืองจำนวน 100 ป้าย และภาพป้ายที่ถ่ายจากวิทยาเขตนอกเมืองจำนวน 100 ป้าย วิธีการศึกษาวิจัย ได้แก่ การรวบรวบคำศัพท์ที่พบบนป้ายและนำมาวิเคราะห์ระดับความยากง่ายของคำศัพท์ภาษาอังกฤษโดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) (Cambridge, 2013) จากนั้นวิเคราะห์ชนิดของคำ หน้าที่และกลุ่มคำที่ใช้บ่งบอกหน้าที่ของภาษาบนป้ายรวมทั้งวิเคราะห์ลักษณะเด่นบางประการที่พบได้จากภาษาบนป้าย
   ผลการศึกษาพบว่าคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พบมี 572 คำ โดยคำแบ่งเป็น 12 ชนิด มีระดับความยากอยู่ในระดับ “ง่าย” มากที่สุดทั้งสองวิทยาเขต ภาษาบนป้ายมี 3 หน้าที่ ได้แก่ “แจ้งให้ทราบ” “เตือนให้ระวัง”และ “ห้ามไม่ให้ทำ” ซึ่งมีกลุ่มคำกริยาเป็นคำบ่งบอกหน้าที่ ส่วนคำศัพท์ในระดับ “ยากที่สุด” พบเพียง 7 คำ ทั้งหมดเป็นคำศัพท์เชิงนโยบายและคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเฉพาะซึ่งพบได้ในวิทยาเขตในเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคำศัพท์ที่พบจากภูมิทัศน์ทางภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมีลักษณะเด่นบางประการ ได้แก่ คำนามมีการใช้คำพ้องความหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ คำสรรพนามมีการใช้เฉพาะคำสรรพนามบุรุษที่ 2 เท่านั้น คำกริยามีการใช้คำกริยาที่เกี่ยวข้องกับการบอก เตือน สั่งและใช้คำกริยากลุ่มแสดงสภาวะที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ คำกริยาวิเศษณ์มีการใช้คำเพื่อบอกทิศทางและบอกเวลา คำกริยาช่วยมีการใช้คำแสดงความเป็นไปได้แต่ไม่พบการใช้คำกริยาช่วยประเภทแสดงการสั่งหรือบังคับ โดยในประโยคประเภท “ห้ามไม่ให้ทำ” จะเลี่ยงไปใช้คำกริยาแทน ผลการวิเคราะห์คำศัพท์ทำให้ได้ข้อมูลว่า การสร้างรายการคำศัพท์จากภูมิทัศน์ทางภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยควรสร้างโดยอิงบริบทที่พบในมหาวิทยาลัยและไม่จำเป็นต้องไต่ระดับคำศัพท์จากง่ายไปสู่ยาก แต่ควรต้องเรียงร้อยคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องให้เกาะเกี่ยวกันด้วยความหมายเพื่อให้บทเรียนทำหน้าที่เป็นสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ดี และควรเน้นการเพิ่มแรงจูงใจแบบอิสระโดยไม่ควรใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจแบบกำหนดเนื้อหาในบทเรียน ด้านการนำเสนอคำศัพท์ในบทเรียนควรใช้วิธีแบบนิรนัยและใช้คำพ้องความหมายเพื่อขยายวงคำศัพท์ของผู้เรียน ทั้งนี้รายการคำศัพท์ที่ได้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นคำศัพท์ที่สำคัญในหลักสูตรการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมนิสิตแลกเปลี่ยนทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้นิสิตสามารถใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ

The Implicit Ideology in National Council for Peace and Order’s Songs

Sumintra Maklai

   Due to the political conflicts that had occurred in Thai politics for many years, the Royal Thai Armed Forces had launched the coup d’état in May 2014. Furthermore, the Thai military had established the National Council for Peace and Order (NCPO) to govern Thailand. Since then, the NCPO had been released eight songs which were the soundtracks of the TV show, called ‘Thailand Moves Forward’. Thais who watch TV regularly definitely hear at least one of the songs which were written and arranged by the NCPO. This study aims to explore an implicit ideology in all eight National Council for Peace and Order’s songs, and to analyze linguistic strategies uses to convey the ideology in the song lyrics by adopting Critical Discourse Analysis approach. The result shows that the ideology hidden in the songs is the insecurity of the country. There is a war in Thailand, and Thailand is not a safe place. There are three roles of people found in the analysis. The first role is the role of the Thai government as a hero who had the power to save the country, and to sacrifice himself for Thai people. Next, the role of Thai people and the country can be found as victims who faced obstacles, and needed to have someone help them. The last role is the people who did not accept the truth that the government had worked hard to save the country as the villains. After analyzing these song lyrics, it was found that there are six linguistic strategies used to convey the implicit ideology. They are the uses of lexical choice, transitivity, modality, speech act, presupposition, and metaphor.

กลุ่มย่อย 6 ห้อง 116

การวิเคราะห์ลักษณะทางวากยสัมพันธ์โดยอิงฐานข้อมูลของคำว่า "กัน"

มุกข์ดา สุขธาราจาร

การวิเคราะห์คำถามและคำตอบในเชิงธุรกิจเพื่อประยุกต์ใช้ในระบบแชทบอท

เมธิญญา มัดธนู, มุกข์ดา สุขธาราจาร, ธนศักดิ์ ศิริคะเณรัตน์

   บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของประโยคคำถามที่ใช้โต้ตอบกันออนไลน์รวมถึงชุดคำบ่งชี้เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบถาม-ตอบอัตโนมัติในแชทบอท ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาคือคำถามทั้งหมด 2,069 ประโยค จากการถาม-ตอบเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้าระหว่างผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ทั้ง 13 หมวดหมู่

   ผลการศึกษาพบว่ามีคำถามเกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์ทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ 1) คำถามตอบรับ 2) คำถามอะไร 3) คำถาม อย่างไร 4) คำถามเท่าไร 5) คำถามเมื่อไร 6) คำถามทำไม 7) คำถามที่ไหน 8) คำถามให้เลือก คำถามทั้งหมดมีลักษณะเป็นคำถามตรงและคำถามไม่ตรง โดยคำถามตรงคือประโยคคำถามที่มีคำบ่งชี้คำถามตรงตามประเภทของคำถาม ส่วนคำถามไม่ตรงคือประโยคที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบประโยคคำถามโดยมักจะปรากฏเป็นประโยคขอร้องที่แสดงเจตนาการถาม ผลจากการวิเคราะห์ลักษณะการถามยังพบว่า คำบ่งชี้คำถาม “อะไร” และ “ที่ไหน” มีความหมายหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริบท นอกจากนี้ยังพบว่าคำบ่งชี้คำถามมีรูปแปรของการสะกดจำนวนมาก การวิเคราะห์ความหมายและรูปแปรของคำบ่งชี้คำถามในภาษาไทยจะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาแชทบอทต่อไป

การวิเคราะห์บทความวิชาการเพื่อหาตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญ : กรณีศึกษาบทความในวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เตชินทร์ แสงสุวรรณ, มุกข์ดา สุขธาราจาร

   บทความเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญในบทความวารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสุ่มเลือกบทความหนึ่งเรื่องในวารสารแต่ละฉบับ รวมทั้งหมด 24 เรื่อง จาก 24 ฉบับ ผลการศึกษาพบว่า ตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ตัวบ่งชี้ที่นำหน้าประโยคใจความสำคัญ และตัวบ่งชี้ที่นำหน้าส่วนขยายประโยคใจความสำคัญ โดยทั้ง 2 ส่วนพบตัวบ่งชี้ 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญระดับคำ เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและหลากหลายที่สุด โดยแบ่งตัวบ่งชี้เป็น 4 ชนิดของคำ ได้แก่ คำนาม เช่น คำว่า “อาทิ” “คำนามที่เป็นตัวเลข เช่น 1, 2, 3, 4” คำบุพบท เช่น คำว่า “นอกจาก” “โดย” “เพื่อ” คำสันธาน เช่นคำว่า “แต่” “เพราะ” “คือ” “เนื่องจาก” และคำวิเศษณ์ เช่น คำว่า “ดังนั้น” “เช่น” กลุ่มที่สองคือ ตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญระดับวลี เป็นกลุ่มที่พบรองลงมา แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทกริยาวลี เช่น “เพื่อที่จะ” “แสดงให้เห็นว่า” “จะเห็นได้ว่า” “กล่าวโดยสรุป” กลุ่มบุพบทวลี เช่น “ในการที่” “ในบางครั้ง” กลุ่มที่สามคือตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญระดับประโยค แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทอนุประโยค เช่น “(ชื่อคน/กลุ่มคน)…ว่า อย่างเช่น Bell คิดว่า, คนทั่วไปมักจะพูดว่า” และประเภทกลุ่มคำสันธาน เช่น “ในทางกลับกัน” “ดังนั้นจึง” และกลุ่มที่สุดท้าย คือ ตัวบ่งชี้ประโยคใจความสำคัญที่เป็นเครื่องหมาย เช่น นขลิขิตหรือวงเล็บ อัญประกาศหรือฟันหนู และยัติภังค์หรือเครื่องหมายขีด

กลุ่มย่อย 7 ห้อง 103

การศึกษาปัญหาการออกเสียงสระ /u/ และ /y/ ในภาษาจีนกลางของผู้เรียนชาวไทย

ดุสิตา พุทธศรี, ธนศักดิ์ ศิริคะเณรัตน์, อุมาภรณ์ สังขมาน

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหาการออกเสียงสระ /u/ และ /y/ ในภาษาจีนกลาง ของผู้เรียนชาวไทย โดยมุ่งศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออัตราความถูกต้องของการออกเสียง 2 ปัจจัยได้แก่ 1) ความยาวของคำ (Word length) และ 2) ค่าระยะเวลา ITI (Intertrial Intervals) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ นิสิตสาขาภาษาจีนชั้นปีที่ 2 ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จำนวน 10 คน

คำศัพท์ภาษาจีนกลางที่ใช้ในการทดสอบทุกคำเป็นคำที่มีเสียงสระ /u/ หรือ /y/ โดยเป็นคำพยางค์เดียว  5 คำ และคำ 2 พยางค์ 5 คำ รวมทั้งหมด 10 คำ  ผู้วิจัยคัดเลือกคำที่ใช้ทดสอบจากข้อสอบการวัดระดับความรู้ภาษาจีนกลางระดับ 2-3 (Hanyu Shuiping Kaoshi Level 2-3 : HSK Level 2-3 ) ซึ่งได้แก่คำว่า 路[lu], 绿[ly], 鱼[jy], 去[t͡ɕʰ y], 书[ʂu], 橘子[t͡ɕ y ʈ͡ʂ (ɹ̩)], 足球[t͡s u t͡ɕʰiu], 地图[ti tʰu], 女人[ny ɻen]และ 礼物[li u] ระหว่างการทดสอบ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้อ่านคำทดสอบที่แสดงด้วยโปรแกรม PowerPoint โดยผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้เห็นและอ่านคำศัพท์ทีละคำ คำทดสอบทุกคำประกอบไปด้วยรูปภาพและคำศัพท์ภาษาจีนกลางที่เขียนด้วยอักษรจีน ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนได้อ่านคำทดสอบชุดเดียวกัน การเก็บข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 กำหนดค่าระยะเวลา ITI 5 วินาที ครั้งที่ 2 กำหนดค่าระยะเวลา ITI 2 วินาที เพื่อทดสอบอิทธิพลของค่าระยะเวลา ITI

   ผลการวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถออกเสียงสระ/u/ และ /y/ ในภาษาจีนกลางที่เป็นคำพยางค์เดียวได้ถูกต้องมากกว่าคำสองพยางค์ (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 17 และ 13.4 ตามลำดับ) ผลการวิเคราะห์ทางสถิติไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ผลของการกำหนดค่าระยะเวลา ITI ที่แตกต่างกันพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองออกเสียงสระ/u/ และ /y/ ด้วยค่าระยะเวลา ITI 2 วินาทีได้ถูกต้องมากกว่า 5 วินาที (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.8 และ 8.4 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์ทางสถิติไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

บทบาทของทฤษฎีตรวจจับสัญญาณในการวิเคราะห์ผลการทดสอบการฟัง

ธนศักดิ์ ศิริคะเณรัตน์

   ทฤษฎีตรวจจับสัญญาณ (Signal Detection Theory: SDT) เป็นแนวคิดทฤษฎีที่มีประวัติย้อนไปถึงการทำงานของเรดาร์ตรวจจับเครื่องบินรบ โดยหลักการสำคัญของ SDT คือการใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ในการคำนวณคุณภาพในการตัดสินใจและเกณฑ์การตัดสินใจของคนแต่ละคน (Macmillan & Creelman, 2005) ต่อมาแนวคิดและวิธีการคำนวณใน SDT ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสาขาอื่นๆ เช่นการแพทย์ รังสีวิทยา นิติวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา (Phillips, Saks, & Peterson, 2001) รวมถึงภาษาศาสตร์ด้วย (Iverson et al., 2003)
   SDT เป็นที่ยอมรับและมีการประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆ มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960-1970 (Pastore & Scheirer, 1974) และพบว่า การวิเคราะห์ผลโดยใช้วิธีการตามแนวคิดของ SDT ช่วยให้การตีความผลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้จะมีงานวิจัยในหลานสาขาที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดทฤษฎีของ SDT มีความสำคัญต่อการตีความผล แต่ในทางภาษาศาสตร์ยังไม่มีการยืนยันว่าแนวคิดของ SDT มีประโยชน์จริงหรือไม่ งานวิจัยที่ศึกษาการฟังเสียง (speech perception) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคืองานวิจัยที่วิเคราะห์ผลด้วยทฤษฎี SDT และงานวิจัยที่ไม่ใช้ทฤษฎี SDT จึงนำไปสู่ประเด็นปัญหาว่า การวิเคราะห์ผลการทดสอบการฟังจำเป็นต้องใช้ทฤษฎี SDT หรือไม่
   งานวิจัยในครั้งนี้จึงต้องการศึกษาบทบาทของ SDT ในการวิเคราะห์ผลการทดสอบการฟังเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการวิเคราะห์ผลการทดสอบการฟังจำเป็นต้องใช้วิธีการคำนวณผลตามแนวคิดของ SDT หรือไม่ โดยผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในอดีต จากนั้นจึงวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างการวิเคราะห์ผลด้วยคะแนนดิบ กับการวิเคราะห์ผลโดยใช้ทฤษฎี SDT เพื่อดูความแตกต่างของผลลัพธ์
ผู้วิจัยได้รวบรวมงานวิจัยที่ศึกษาด้านการฟังเสียง 3 งาน โดยทั้ง 3 งานมีลักษณะร่วมกันคือวิเคราะห์ผลการทดสอบการฟังโดยไม่ใช้ทฤษฎี SDT งานวิจัยที่รวบรวมมาทั้ง 3 งานใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันทั้งหมด ได้แก่ วิธีการแบบ ABX, Oddity และ AFC การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างการวิเคราะห์ผลด้วยคะแนนดิบ กับการวิเคราะห์ผลโดยใช้ทฤษฎี SDT พบว่า ผลการวิเคราะห์ด้วยทั้ง 2 วิธีได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกัน งานวิจัยในครั้งนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการวิเคราะห์ผลการทดสอบการฟังจำเป็นต้องวิเคราะห์ตามทฤษฎี SDT หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์งานวิจัยในอดีตเพิ่มเติมอาจพบกรณีที่ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันก็เป็นได้

เครือข่ายมโนทัศน์ของคำว่า “แม่” ในภาษาไทย: การวิเคราะห์ตามแนวอรรถศาสตร์ปริชาน

รอยฝัน ประทุมทิพย์, อุมาภรณ์ สังขมาน, คเชนทร์ ตัญศิริ

   บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติทางวิทยาหน่วยคำ วากยสัมพันธ์ และคุณสมบัติทางอรรถศาสตร์ของคำว่า “แม่” ในทุกการปรากฏ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูล จาก 4 แหล่ง ได้แก่ คลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ คำศัพท์ในพจนานุกรม ภาษาที่พบในชีวิตประจำวัน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคำประสม ผลการศึกษาคุณสมบัติทางวิทยาหน่วยคำและวากยสัมพันธ์ พบว่า คำว่า “แม่” ปรากฏเป็นชนิดของคำได้ 2 ชนิด คือ คำมูล และคำประสม โดยคำมูลปรากฏเป็นคำนามเดี่ยว และคำลักษณนาม  ส่วนคำประสมพบ 73 คำ สามารถปรากฏได้ทั้งตำแหน่งแรกหรือตำแหน่งท้ายของคำ โดยมีการปรากฏร่วมกับ คำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ สำหรับผลการศึกษาคุณสมบัติทางอรรถศาสตร์พบว่าคำว่า “แม่” นอกจากความหมายหลักตามพจนานุกรมแล้ว ยังมีความหมายที่ได้จากการวิเคราะห์ตัวอย่างประโยคที่มีคำว่า “แม่” ในบริบทต่าง ๆ จำนวน 100 ประโยค เพิ่มเติมอีก 7 ความหมาย ได้แก่ ความหมายที่บ่งบอกถึงผู้ที่เป็นเพศหญิง (Female) ความหมายที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้ที่ทำให้เกิดหรือผลิตสิ่ง ๆ หนึ่ง (Generator) ความหมายที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้ควบคุม (Controller) ความหมายที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ (Greatness) ความหมายที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้ที่สนับสนุนหรือที่พึ่ง (Supporter) ความหมายที่บ่งบอกถึงการเป็นกลุ่ม (Group) และความหมายที่บ่งบอกถึงผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนแม่ (Motherhood) นอกจากนี้ยังพบว่าคำว่า “แม่” เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของคำประสมแล้ว สามารถมีได้มากกว่า 1 ความหมาย โดยสามารถมีความหมายได้สูงสุดถึง 4 ความหมาย

กลุ่มย่อย 8ห้อง 114

คำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นอีสาน : กรณีศึกษาบ้านหนองหน่อง ตำบลอีง่อง จังหวัดร้อยเอ็ด

ชินวัตร จตุรวงค์, ชุติชล เอมดิษฐ

   ตามแนวคิดอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ การศึกษาคำสามารถสะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์และวัฒนธรรมของ
แต่ละชาติพันธุ์ได้ คำเรียกการทำอาหารเป็นชุดคำที่น่าสนใจ เนื่องจากแต่ละชาติพันธุ์ต่างมีเอกลักษณ์ในการทำอาหารเป็นของตนเอง การศึกษาคำเรียกการทำอาหารจึงน่าจะแสดงให้เห็นระบบความคิดของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คำเรียกการทำอาหารในภาษาไทยถิ่นอีสานตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ โดยใช้วิธีวิเคราะห์องค์ประกอบทางความหมาย เพื่อตีความโลกทัศน์ของชาวอีสานผ่านความหมายของคำเรียกการทำอาหาร
   ผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาทั้งหมด 5 คน เพศหญิง มีความเชี่ยวชาญในการทำอาหาร และมีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านหนองหน่อง ตำบลอีง่อง จังหวัดร้อยเอ็ด ผลการวิจัยพบคำเรียกการทำอาหารทั้งหมด 22 คำ โดยมีมิติแห่งความแตกต่าง 7 มิติ ได้แก่ วัตถุประสงค์ ความสุก ระดับน้ำ ระดับน้ำมัน วิธีการทำ วัตถุดิบ และวัสดุอุปกรณ์
   ผลการวิเคราะห์วัฒนธรรมที่สะท้อนจากคำเรียกการทำอาหารพบว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวอีสาน การถนอมอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ชาวอีสานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และมีอุปนิสัยกระตือรือร้น ทำงานรวดเร็ว วัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการประกอบอาหารล้วนได้มาจากธรรมชาติในท้องถิ่น นอกจากนี้ชาวอีสานยังนิยมกินอาหารแบบดิบ

อิทธิพลของภาษาเขมรที่ส่งผลต่อการพูดภาษาไทยของคนไทยเชื้อสายเขมรบ้านแปลง ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

วันมงคล ทิวงษา, มนสิการ เฮงสุวรรณ

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของภาษาเขมรที่ส่งผลต่อการพูดภาษาไทยของคนไทยเชื้อสายเขมรบ้านแปลง ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ คนไทยเชื้อสายเขมรบ้านแปลง ตำบลหนองตาคง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 คน จาก 3 ครอบครัว คือ ครอบครัวที่ใช้ภาษาไทย ครอบครัวที่ใช้ภาษาเขมรถิ่นจันทบุรี และครอบครัวที่ใช้ทั้งสองภาษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์ 4 ตอน ได้แก่ ประวัติผู้บอกภาษา การอธิบายภาพ การบอกเล่าถึงประเพณีสงกรานต์ของชุมชน และการแนะนำอาหารท้องถิ่น การวิเคราะห์ผลการวิจัยอาศัยการวิเคราะห์ตามแนวสรีระสัทศาสตร์
   ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า คนไทยเชื้อสายเขมรจากทั้ง 3 ครอบครัวมีลักษณะการพูดภาษาไทยที่รับอิทธิพลมาจากภาษาเขมร 3 ลักษณะ ดังนี้
1. การออกเสียงคำที่ปรากฏพยัญชนะท้ายที่ไม่ปรากฏในภาษาไทยมาตรฐาน โดยปรากฏการออกเสียง
พยัญชนะท้ายเสียง /h/ (ฮ) ซึ่งไม่ปรากฏในคำภาษาไทยมาตรฐาน
2. การออกเสียงคำที่มีลักษณะของเสียงสระลมแทรกซึ่งไม่ปรากฏในคำภาษาไทยมาตรฐาน
3. ปรากฏเสียงวรรณยุกต์ต่างไปจากภาษาไทยมาตรฐาน โดยเปลี่ยนจากเสียงเอก (Low tone)
เป็นเสียงสามัญ (Mid tone)
และ อิทธิพลของภาษาเขมรส่งผลต่อการการพูดภาษาไทยไม่ชัดของคนไทยเชื้อสายเขมรที่มาจากครอบครัวที่ใช้ทั้งภาษาถิ่นจันทบุรีและภาษาไทยมาตรฐานมากที่สุด มีคำที่พูดไม่ชัดร้อยละ 83.33 ส่วนผู้บอกภาษาที่มาจากครอบครัวที่ใช้ทั้งภาษาถิ่นจันทบุรี มีคำที่พูดไม่ชัดร้อยละ 66.67 และครอบครัวที่ใช้ภาษาไทยมาตรฐานมีคำที่พูดไม่ชัดร้อยละ 8.33 ตามลำดับ

กลุ่มย่อย 9 ห้อง 116

การวิเคราะห์ปัญหาการอ่านคำภาษาไทยจากผลทดสอบการอ่านคำเทียม

พุทธชาติ โปธิบาล

ลักษณะการแปรของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง คะ/ค่ะ

ประภัสสร ถิรตันติ

   การแปรของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง คำว่า “คะ” และ “ค่ะ” เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจนกลายเป็นกระแสของสังคมอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา ในมุมมองภาษาศาสตร์สังคม การที่เจ้าของภาษาใช้รูปแปรของภาษาที่แตกต่างออกไปจากหลักภาษา นับเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาที่อุบัติขึ้นอย่างน่าสนใจ งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งอภิปรายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1) ศึกษาลักษณะการแปรของของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้รูปแปรคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิงกับความรู้หลักภาษาไทยของผู้ใช้ และ 3) ศึกษาทัศนคติของผู้ใช้ภาษาที่มีต่อการแปรของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง งานวิจัยชิ้นนี้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 249 คน แบ่งออกได้เป็นผู้ที่ใช้คำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิงตรงตามหลักภาษาจำนวน 225 คน และผู้ที่ใช้รูปแปรของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิงที่แตกต่างไปจากหลักภาษา จำนวน 24 คน ผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้ที่ใช้รูปแปรที่แตกต่างจากหลักภาษา พบการใช้คำว่า “คะ” และ “ค่ะ” ปนกันอย่างสะเปะสะปะ และเกิดในบริบทที่เกิดร่วมกับคำว่า “นะ” มากที่สุด การใช้รูปแปรของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง คะ/ค่ะ สัมพันธ์กับความรู้เรื่องหลักภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการผันวรรณยุกต์ในระดับต่ำ และจากการสำรวจทัศนคติของผู้ใช้ภาษาที่มีต่อการใช้รูปแปรของคำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง คะ/ค่ะ พบว่าผู้ใช้ภาษาส่วนมากมีทัศนคติในแง่ลบกับการใช้รูปแปร และยังคงให้ความสำคัญกับการใช้คำบอกสถานภาพทางเพศของเพศหญิง คะ/ค่ะ ให้ตรงตามหลักภาษาที่ระบุไว้

การศึกษาการสลับภาษากับการสอน”ลูกกอล์ฟอิงลิชรูม”

มุกดา ปะตะทะโย, ชไมภัค เตชัสอนันต์

   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเภท และหน้าที่ของการสลับภาษาของผู้ดำเนินรายการลูกกอล์ฟอิงลิชรูม และลักษณะภาษาที่ใช้ในการตอบสนองต่อการสลับภาษาของผู้เข้าร่วมรายการ เดิมมีผู้ศึกษาการสลับภาษาในหลายบริบท แต่ยังไม่มีผู้ใดศึกษาจากรายการที่เป็นการสอนทางเลือก ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์ โดยผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลจากการคัดเลือกคลิปวีดีโอทาง Youtube ที่มีผู้ชมตั้งแต่หนึ่งล้านวิวขึ้นไป ระยะเวลาประมาณ 30 นาทีต่อ 1 คลิป รวมทั้งสิ้น 7 คลิปวีดีโอ

   ผลการวิจัยพบประเภทการสลับภาษาทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ การสลับภาษาระหว่างประโยค การสลับภาษาภายในประโยค การสลับภาษาในระดับข้อความที่ยาวกว่าประโยค และการสลับภาษาด้วยการแทรกคำหรือวลีภายในประโยค โดยพบการสลับภาษาระหว่างประโยคในความถี่มากเป็นอันดับหนึ่ง และพบการสลับภาษาด้วยการแทรกคำหรือวลีภายในประโยคในความถี่น้อยที่สุด ส่วนหน้าที่ของการสลับภาษาพบหน้าที่การแจ้งมากเป็นอันดับหนึ่ง และพบหน้าที่ หน้าที่การชี้เฉพาะ การประชดประชัน การต้อนรับ และการขออภัยที่พบเป็นลำดับน้อยสุด นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อผู้ดำเนินรายการสื่อสารสลับภาษามาเป็นภาษาไทย ผู้เข้าร่วมรายการส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการสลับภาษาด้วยภาษาอังกฤษ และพบว่าผู้ดำเนินรายการตอนสนองด้วยการสลับภาษาเช่นเดียวกันในความที่น้อยสุด ผลการวิจัยแสดงให้เห็นประเภทการสลับภาษาระหว่างประโยคที่พบมากสุด ซึ่งเป็นประเภทการสลับภาษาระดับประโยคมากกว่าระดับคำหรือวลี อันจะส่งผลให้ผู้ชมหรือผู้เรียน สามารถปรับใช้กับการสื่อสารในชีวิตจริงได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางในการสอนโดยใช้การสลับภาษา

bottom of page